วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ศรีโคตรบูร แปลว่าเมืองตะวันออกจึงน่าจะผิด

ศรีโคตม์บูร( ผู้เขียนขอสะกดตามคำแปลตามนิทานอุรังคธาตุ เพื่อถวายพระเกียรติแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคตะมะ) ที่ปรากฏในหนังสือต่างๆที่เกี่ยวข้อง หรือแม้แต่เวบไซด์จังหวัดนครพนมเอง(www.nakhonphanom.go.th) ก็ไปคัดลอกมาโดยไม่ได้แปลจริงๆ  ดังนั้นจะเห็นหลายฉบับว่า ศรีโคตรบูร หรือศรีโคตม์บูร แปลว่า เมืองตะวันออก ซึ่งน่าจะผิด ถามว่าทำไมถึงแปลผิด เพราะ ไม่ได้อ่านนิทานอุรังคธาตุนั่นเอง แต่ก็ไม่ได้โทษผู้แปลเพราะท่านคงไม่ได้อ่านตำนานฉบับดังกล่าว แต่ประเด็นสำคัญ เพราะเขียนผิดมาตั้งแต่ต้น(สมัยไหนไม่ทราบ)ทำให้ผู้แปล แปลยาก หรือเข้าใจเอาเองว่าควรแปลแบบนี้ (โคตรบูร- โคตร+ปุระ -เมืองใหญ่) หรือ โคปุระ (โค+ปุระ - เมืองตะวันออก ที่แปลว่าเมืองตะวันออก เพราะซุ้มประตูของปราสาทหินสมัยโบราณเรียกว่า โคปุระ -ประตูทางทิศตะวันออก เพราะปราสาทหินส่วนใหญ่จะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก และเมืองศรีโคตม์บูรอยู่ในทางทิศตะวันออก ?  ดังนั้นผู้เขียนไม่โทษคนแปล แต่โทษการสะกดและเขียนผิดมาตั้งแต่ต้น


พระพุทธรูปภายในวัดพระธาตุหลวงใต้ เวียงจันทร์

ศรีโคตรบูรแปลว่าอะไร

ศรีโคตรบูร แปลว่าอะไร ถ้าถามชาวนครพนมส่วนใหญ่จะตอบได้ว่าเป็นเมืองโบราณ. แต่ถ้าแปลว่าอะไรคงจะหาผู้ที่ตอบได้ยาก แม้แต่ผู้เขียนเองก็ตอบไม่ได้ในตอนแรก แต่พอได้อ่าน นิทานอุรังคธาตุ ท่านจะทราบคำตอบในทันทีว่าแปลว่าอะไร ผู้เขียนไม่ใช่นักภาษาศาสตร์ นักภาษาบาลี  แปลผิดแปลถูกขอน้อมรับคำผิดพลาดนะครับ ศรีโคตรบูรแปลว่า เมืองแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคตมะ(ศรี + โคตะมะ+ปุระ)  ตามหลักแล้วควรเขียนดังนี้ ศรีโคตม์ปุระ หรือ ศรีโคตม์บูร(อ่านว่า สีโคตะบูน) สาเหตุที่ตั้งเมืองนี้ว่า เมืองศรีโคตม์บูร เพราะพระพุทธเจ้าพร้อมพระอานนท์ เสด็จมาเมืองนี้อยู่เนืองๆ และทำนายว่าเมืองนี้จักเจริญรุ่งเรืองสืบไปภายหน้า เพื่อเป็นเกียรติแด่พระองค์จึงเอาพระนามของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันตั้งเป็นชื่อเมือง         ชื่อศรีโคตม์บูร จึงเป็นชื่อทางการของเมืองนี้ แต่มีชื่อเมืองที่ชาวบ้านนิยมเรียกโดยทั่วไปว่า เมืองศรีโคตรตะบอง หรือศรีโคตรกะบอง (อ่านว่าสีโคดกะบ๋อง) ตามเจ้าเมืองที่ชอบถือตะบองหรือกะบ๋องเป็นอาวุธ ศรีโคตรตะบอง แปลว่า เมืองผู้เป็นเจ้าเมืองมีทานพระกรอันขนาดใหญ่ หรือเจ้าเมืองผู้ถือตะบองอันใหญ่เป็นอาวุธ(ศรี+โคตร+ตะบอง) นอกจากนี้เทวดาอารักษ์เรียกชื่อเมืองนี้ว่า ศรีโคตโม(เมืองแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่า โคตะมะ).                                                                               สรุปแล้วเมืองนี้มี 3 ชื่อ ดังที่กล่าวในเบื้องต้น ชื่อสำหรับเป็นทางการ ชื่อสำหรับชาวเมือง ชื่อสำหรับเทวดา  คำแปลน่าจะตรงกับภาษาอังกฤษว่า The land of the Lord Buddha Kotama แต่ในปัจจุบันเขียนน่าจะเขียนผิด และถ้าแปลตามตัวอักษรจะแปลไม่ได้เลย แต่เป็นที่นิยมโดยทั่วไปก็เลย เลยตามเลย

ต้นเผิ่ง หรือต้นผึ้งพบได้ในวัฒนธรรมล้านช้างในงานออกพรรษาหรือการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้คนตายไปแล้ว(แจกข้าว)

เมืองนครพนมกับเมืองศรีโคตรบูรเกี่ยวข้องกันอย่างไร



หนองคันแทเสื้อน้ำ พระธาตุหลวงเวียงจันทร์
เมืองศรีโคตม์บูร หรือ เมืองโคตรบอง หรือศรีโคตรตะบอง เป็นเมืองหรือแคว้นโบราณซึ่งในอดีตเคยเจริญรุ่งเรืองอยู่ในบริเวณจังหวัดนครพนม แขวงคำม่วน. จังหวัดมุกดาหาร และแขวงสุวรรณเขตในปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าจังหวัดนครพนมสืบเนื่องความเจริญรุ่งเรือง หรือสืบทอดทางวัฒนธรรมและผู้คนมาจากเมืองศรีโคตรบูรนั่นเอง จะเห็นว่าชื่อของเจ้าเมืองมักจะมีสร้อยมาจากเมืองศรีโคตรบูรด้วย ดังเช่นจารึกวัดโอกาสศรีบัวบาน (เดิมอยู่วัดกลาง เมืองนครพนม พระครูสุนทรกัลยาณพจน์ อดีตเจ้าอาวาสวัดโอกาส และอดีตเจ้าคณะอำเภอเมืองนครพนม ขอพระพุทธรูปองค์นี้เจ้าอาวาสวัดกลางองค์ก่อน(พระมหาวิจิตร?) ) มีข้อความว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงแต่งตั้งเจ้าอุปราชชื่นอุปราชเมืองนครพนม เป็นเจ้าเมืองนครพนมในปี พ.ศ. 2398 นามว่าพระพนมนครานุรักษาธิบดีศรีโคตรตะบองเจ้า สร้างพระพุทธรูปขนาดน้ำหนักตัวเพื่อเป็นสิริมงคลในวันได้รับตำแหน่ง

วันพุธที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

นครพนม บันทึกเอกสารทางประวัติศาสตร์

โปงไม้ หรือระฆังไม้พบได้ทั่วไปในวัฒนธรรมล้านนาและล้านช้าง
ผู้เขียนเป็นคนนครพนมโดยกำเนิด อ่านเอกสารเกี่ยวกับตำนาน หนังสือประวัติศาสตร์ ประวัติเมืองนครพนมมาพอสมควร แตยังมีคำถามคาใจอยู่จำนวนมาก เช่น นครพนมปรากฏชื่อในเอกสารฉบับโบราณหรือจารึกอื่นๆ หรือไม่ เพราะส่วนใหญ่ที่เขียนหรือคัดลอกต่อๆกันมาว่า ได้สร้างเมืองขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 แต่ไม่ปรากฏหลักฐานการอ้างอิงว่ามาจากเอกสารหรือจารึกโบราณฉบับใดกันแน่                                                                                                                                       ผู้เขียนจะนำพาผู้อ่าน ไปค้นหาเอกสารโบราณและบันทึกต่างๆ ทีละยุค เพื่อจะได้คลี่คลายความสงสัยหรือตอบคำถามที่คาใจมานาน เพื่อเป็นหลักฐานการอ้างอิงและความเข้าใจในประวัติศาสตร์ของบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง