วันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ชื่ออย่างเป็นทางการของแม่น้ำโขงหรือแม่น้ำของ


แม่น้ำโขง ณ ริมตลิ่งเมืองหนองคาย
นำโขง ถ้าเป้นคนที่อยู่ใกล้น้ำโขงจริงๆ จะเรียกว่าน้ำของ เช่น อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่หลวงพระบาง เลย เวียงจันทน์ หนองคาย นครพนม บริคำไชย บึงกาฬ มุกดาหาร สะหวันนะเขต อำนาจเจริญ อัตตะปือ อุบลราชธานี เรียกเหมือนกันหมดว่า แม่น้ำของ แต่ว่าไม่ได้อยู่ติดน้ำของ อยู่ไกลจากน้ำของ ก็จะได้รับอิทธิพลจากภาษาไทยก็เรียนน้ำโขง 

บันทึกทางประวัติศาสตร์ในหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ก็กล่าวถึงอาณาเขตด้านทิศเหนือ ติดกับเมือง ลุมบาจาย สระคา ท้าวฝั่งของ"  ท้าวฝั่งของ หมายถึงท้าวพระยาที่ปกครองในลุ่มแม่น้ำโขง
แสดงว่าชื่อนี้อย่างน้อยก็เรียกมาแล้วมากกว่าเจ็ดร้อยปี 

แต่บันทึกทางประวัติศาสตร์เมื่อห้าร้อยปีก่อนก็เรียกน้ำของเหมือนกัน และมีชื่ออย่างเป็นทางการด้วย 
ชื่อแบบภาษาชาวบ้านเรียก แม่น้ำของ   แม่น้ำของตั้งแต่หนองแส ประเทศจีนเรื่อยจนถึงเมืองศรีโคตม์บูร เรียกว่า ทะนะนะทีเทวา หรือ ธนะนทีเทวา  (แม่น้ำมีเทวดาด้วย มีสมบัติด้วย หรือ แม่น้ำอันมีทรัพย์มากและมีเทวดารักษา)  ปรากฏในหน้า 5 ของตำนานอุรังคธาตุ ฉบับอาจารย์อุดร จันทวัน  แต่อาจารย์บอกว่า ต้นฉบับเขียนว่า  ทะนะมะณีเทวา  ผู้เขียนเห็นว่า ต้นฉบับก็อาจจะเขียนถูกต้องแล้ว เพราะเราเมื่อเราพูดถึงแม่น้ำ ในหลายแห่งเราก็ขี้เกียจเขียนคำว่าแม่น้ำอีก เขียนเฉพาะคำคุณศัทพ์ของแม่น้ำ
ธะนะมะณีเทวา (แม่น้ำ) มีเทวดาด้วย(รักษา) มีแก้วมะณีด้วย และมีสมบัติ(ทรัพย์)ด้วย  เพราะสมัยโบราณเมืองโบราณเมื่อห้าร้อยปีก่อน มรีเหมืองแก้ว และเหมืองทองด้วย อย่างเมืองนครพนมในอดีตก็มีเหมืองทองคำอยู่ริมตลิ่งน้ำของ หลายจุดเหมือนกัน

จะเรียก ธนะนทีเทวา  จะเรียก ธนะมณีเทวา  ก็ตามใจเถิด  แต่ให้รู้ว่า ชื่ออย่างเป็นทางการของแม่น้ำโขงเมื่อห้าร้อยปีก่อน เรียกชื่อที่กล่าวมา  

แม่น้ำโขงหรือน้ำของ ตั้งแต่เมืองศรีโคตม์บูรลงไปจนถึงประเทศกำพูชา เรียกว่า "แม่น้ำหลี่ผี"  ตามอุรังคนิทานหน้า  6  ดังข้อความนี้ "  ทะนะมุนละนาค  ผู้อาศัยอยู่เมืองศรีโคตบอง ก็ควัดฮ่องจากนั้นลงไป ฮอดเมืองอินทะปัตถะนคร จนฮอดแม่น้ำสมุทร ฮ่องนี้เอิ้นว่า น้ำหลี่ผี นั้นแล"

ที่มาของคำว่าสุวรรณภูมิ

พญานาคทองคำ(สมมติ) บันไดทางขึึ้นวัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่
เมืองหรือแคว้นสุวรรณภุมิ ปรากฏในตำนาน เอกสารโบราณต่างๆ ว่าก็เป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองมากจึงได้ชื่อว่าสุวรรณภูมิ บ้างก็ว่ามีทองคำมากจึงได้ชื่อว่าสุวรรณภุมิ แต่ตำนานอุรังคธาตุได้ให้นิยามของที่มาของคำว่าสุวรรณภูมิ ดังนี้ " ยังมีนิทานอันหนึ่งแต่พระเจ้าโคตมะเอานี้ ยังมีพระยานาคโตหนึ่ง ชื่อว่า สุวัณณนาค เกิดเป็นคำทั้งหมดโต นาคโตนั้นอยู่บ่อนใด๋ก็ตาม แม่นว่าแต่เกล็ดตกลงบ่อนใด๋ ก็เป็นคำในบ่อนั้น พญานาคโต๋นั้นได้มีฤทธานุภาพเช่นนี้ จึงได้เป็นใหญ่ในเมืองสุวัณณภูมิ ดังนั้นเมืองนี้จึงได้ชื่อว่าสุวรรณภูมิ ตามชื่อนาคโต๋นั้นแล"  คนไทยก็อ้างว่าไทยคือเมืองสุวรรณถูมิ คนลาวก็อ้างว่าเมืองลาวคือสุวรรณภูมิ คนพม่าก็อ้างว่าสุวรรณภูมิอยู่ในประเทศพม่า  ผู้เขียนเห็นว่าทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป้นสุวรรณภูมิทั้งหมดเพราะทุกประเทศมีเหมืองทองคำและมีความอุดมสมบูรณ์มาก มีทรัพยากรทางธรรมชาติมากมาย 

วันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เมืองต่างๆที่ปรากฎในตำนานอุรังคธาตุนิทาน


เจดีย์วัดภายในวัดพระสิงห์เชียงใหม่
เมืองที่ปรากฏในตำนานอุรังคธาตุและเป็นเมืองที่ยังมีชีวิตอยู่สืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน อย่างน้อยก็มีอายุไม่ต่ำกว่า 500 ปีแล้ว ได้แก่เมืองหล้าหนองคาย(จังหวัดหนองคาย)  เมืองร้อยเอ็ดประตู(จังหวัดร้อยเอ็ด) เมืองเชียงใหม่โยนกนาควัตตีนคร(จังหวัดเชียงใหม่) เมืองแพร่(จังหวัดแพร่) เมืองจันทบุรี(เวียงจันทน์) เมืองศรีสัตตะนาค(เมืองศรีสัตตะนาค กำแพงนครเวียงจันทน์) ยกเว้นเมืองมรุกขนครที่ปัจจุบันเหลือแต่ซากปรักหักพัง และกลายมาเป็นเมืองนครพนมในปัจจุบัน อาณาจักรล้านนาและล้านช้างมีวัฒนธรรมและเอกลักษณ์คล้ายคลึงกัน ไปมาหาสู่ซึ่งกันและกัน ก่อนที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชจะปกครองอาณาจักรล้านช้างนั้น พระองค์ปกครองอาณาจักรล้านนามาก่อน จึงไม่แปลกที่อุรังคธาตุนิทานจึงปรากฏเมืองในภาคเหนือ เมืองในเขตภาคอีสานและประเทศลาว

ทำไมต้องตั้งชื่อเมืองว่าศรีโคตม์บูร

พระพุทธรูปมหายาน บ้างก็ว่าพระเจ้าชัยวรมัน
เราลองมาอ่านนิทานอุรังคธาตุกันจะทำให้คลายสงสัยลงไปได้ ผู้เขียนขอยกเอานิทานอุรังคธาตุฉบับ อาจารย์อุดร จันทวัน หน้า 12 ความว่า " เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนอยู่ และได้เสด็จประทับอยู่ในวัดเชตวัน เมื่อเวลาใกล้รุ่ง พระอานนท์เถระเจ้าผู้เป็นอุปัฏฐาก ได้จัดแจงไม้สีฟันและน้ำส่วยหน้าถวายแก่พระพุทธเจ้าเมื่อพระพุทธเจ้าทรงชำระเรียบร้อยแล้วทรงหลิงเห็นพระพุทธเจ้าสามพระองค์ในอดีตที่ผ่านมา พระพุทธเจ้าทั้งสามพระองค์นั้นยังได้ก่อธาตุไว้ในดอยกัปปันนคีรีอยู่ใกล้เมืองศรีโคตรบองนั้น  เมื่อหลิงเห็นอย่างนั้นแล้วพระพุทธเจ้าก็ทรงผ้ากำพลสีแดงซึ่งนางโคตมีได้ถวายเป็นทาน "  อีกตอนหนึ่งหน่า 26 ความว่า "เมื่อนั้นพระยาอินทร์ก็หลิงเห็นฮอดทุกก้ำทุกพาย แล้วก็เสด็จไปสู่ป่าหิมพานต์เอาน้ำอโนมาและไม้นวดนำมาถวายพระสัพพัญญูเจ้าเพื่อชำระ เมื่อพระพุทธเจ้าชำระแล้วก็จับเอาผ้าและบาตรเสด็จไปสู่ทิศตะวันออก จากนั้นก็เสด็จไปสูต้นรังใต้ปากน้ำเซ เพื่อจักทอดพระเนตรเมืองศรีโคตรบอง จากนั้นก็เสด็จเข้าไปบิณบาต พระยาตนนั้นได้สร้างสมโพธิสมภารหลายจักได้ท่องเที่ยวมาเกิดในชมพูทวีป เสวยราชสมบัติและเป็นผู้อุปถัมภ์คำ้ชูพระพุทธศาสนาในที่นั้นเป็นเวลาสามเทื่อทุกๆเมื่อเท่าห้าพันพระวัสสา เหตุดังนั้นเมืองนี้จึงได้ชื่อว่าศรีโคตม์บูร" กล่าวโดยสรุปคือ เป็นเมืองที่พระพุทธเจ้าสามพระองค์ก็ยังเคยเสด็จมา และเป็นเมืองที่กษัตริย์มีบุญญาธิการเสมอเหมือนพระสมณโคดม จึงได้เอาพระนามของพระพุทธเจ้าโคตมะตั้งเป็นชื่อเมืองเพื่อเป็นศิริมงคลแก่บ้านเมือง

วันอังคารที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เมืองศรีโคตม์บูรมีอยู่จริงในประวัติศาสตร์หรือไม่


บรรไดนาค วัดพระธาตุหลวงเวียงจันทร์
ก่อนอื่น เราต้องค้นเอกสารโบราณต่างๆ เพื่อหาหลักฐานยืนยันการมีอยู่จริงของเมืองศรีโคตม์บูร หรือ ศรีโคตะมะปุระ แต่ไม่ใช่ว่าจะค้นหาง่ายๆ เพราะผ่านมาหลายร้อยปีแล้ว นักปราชญ์ส่วนใหญ่เชื่อว่ามีจริง อย่างน้อยก่อนการตั้งเมืองมรุกขนคร หรือเมืองเวียงจันทน์ เพราะพญาฟ้างุ้มได้รวบรวมเมืองต่างๆขึ้นในเขตลุ่มน้ำของ และสถานปนาเป็นอาณาจักรล้านช้างเมื่อเจ็ดร้อยกว่าปีที่แล้ว แต่ว่าสร้างเมื่อปีใดอายุเท่าไหร่มิอาจจะทราบได้

วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ศรีโคตรบูร แปลว่าเมืองตะวันออกจึงน่าจะผิด

ศรีโคตม์บูร( ผู้เขียนขอสะกดตามคำแปลตามนิทานอุรังคธาตุ เพื่อถวายพระเกียรติแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคตะมะ) ที่ปรากฏในหนังสือต่างๆที่เกี่ยวข้อง หรือแม้แต่เวบไซด์จังหวัดนครพนมเอง(www.nakhonphanom.go.th) ก็ไปคัดลอกมาโดยไม่ได้แปลจริงๆ  ดังนั้นจะเห็นหลายฉบับว่า ศรีโคตรบูร หรือศรีโคตม์บูร แปลว่า เมืองตะวันออก ซึ่งน่าจะผิด ถามว่าทำไมถึงแปลผิด เพราะ ไม่ได้อ่านนิทานอุรังคธาตุนั่นเอง แต่ก็ไม่ได้โทษผู้แปลเพราะท่านคงไม่ได้อ่านตำนานฉบับดังกล่าว แต่ประเด็นสำคัญ เพราะเขียนผิดมาตั้งแต่ต้น(สมัยไหนไม่ทราบ)ทำให้ผู้แปล แปลยาก หรือเข้าใจเอาเองว่าควรแปลแบบนี้ (โคตรบูร- โคตร+ปุระ -เมืองใหญ่) หรือ โคปุระ (โค+ปุระ - เมืองตะวันออก ที่แปลว่าเมืองตะวันออก เพราะซุ้มประตูของปราสาทหินสมัยโบราณเรียกว่า โคปุระ -ประตูทางทิศตะวันออก เพราะปราสาทหินส่วนใหญ่จะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก และเมืองศรีโคตม์บูรอยู่ในทางทิศตะวันออก ?  ดังนั้นผู้เขียนไม่โทษคนแปล แต่โทษการสะกดและเขียนผิดมาตั้งแต่ต้น


พระพุทธรูปภายในวัดพระธาตุหลวงใต้ เวียงจันทร์

ศรีโคตรบูรแปลว่าอะไร

ศรีโคตรบูร แปลว่าอะไร ถ้าถามชาวนครพนมส่วนใหญ่จะตอบได้ว่าเป็นเมืองโบราณ. แต่ถ้าแปลว่าอะไรคงจะหาผู้ที่ตอบได้ยาก แม้แต่ผู้เขียนเองก็ตอบไม่ได้ในตอนแรก แต่พอได้อ่าน นิทานอุรังคธาตุ ท่านจะทราบคำตอบในทันทีว่าแปลว่าอะไร ผู้เขียนไม่ใช่นักภาษาศาสตร์ นักภาษาบาลี  แปลผิดแปลถูกขอน้อมรับคำผิดพลาดนะครับ ศรีโคตรบูรแปลว่า เมืองแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคตมะ(ศรี + โคตะมะ+ปุระ)  ตามหลักแล้วควรเขียนดังนี้ ศรีโคตม์ปุระ หรือ ศรีโคตม์บูร(อ่านว่า สีโคตะบูน) สาเหตุที่ตั้งเมืองนี้ว่า เมืองศรีโคตม์บูร เพราะพระพุทธเจ้าพร้อมพระอานนท์ เสด็จมาเมืองนี้อยู่เนืองๆ และทำนายว่าเมืองนี้จักเจริญรุ่งเรืองสืบไปภายหน้า เพื่อเป็นเกียรติแด่พระองค์จึงเอาพระนามของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันตั้งเป็นชื่อเมือง         ชื่อศรีโคตม์บูร จึงเป็นชื่อทางการของเมืองนี้ แต่มีชื่อเมืองที่ชาวบ้านนิยมเรียกโดยทั่วไปว่า เมืองศรีโคตรตะบอง หรือศรีโคตรกะบอง (อ่านว่าสีโคดกะบ๋อง) ตามเจ้าเมืองที่ชอบถือตะบองหรือกะบ๋องเป็นอาวุธ ศรีโคตรตะบอง แปลว่า เมืองผู้เป็นเจ้าเมืองมีทานพระกรอันขนาดใหญ่ หรือเจ้าเมืองผู้ถือตะบองอันใหญ่เป็นอาวุธ(ศรี+โคตร+ตะบอง) นอกจากนี้เทวดาอารักษ์เรียกชื่อเมืองนี้ว่า ศรีโคตโม(เมืองแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่า โคตะมะ).                                                                               สรุปแล้วเมืองนี้มี 3 ชื่อ ดังที่กล่าวในเบื้องต้น ชื่อสำหรับเป็นทางการ ชื่อสำหรับชาวเมือง ชื่อสำหรับเทวดา  คำแปลน่าจะตรงกับภาษาอังกฤษว่า The land of the Lord Buddha Kotama แต่ในปัจจุบันเขียนน่าจะเขียนผิด และถ้าแปลตามตัวอักษรจะแปลไม่ได้เลย แต่เป็นที่นิยมโดยทั่วไปก็เลย เลยตามเลย

ต้นเผิ่ง หรือต้นผึ้งพบได้ในวัฒนธรรมล้านช้างในงานออกพรรษาหรือการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้คนตายไปแล้ว(แจกข้าว)

เมืองนครพนมกับเมืองศรีโคตรบูรเกี่ยวข้องกันอย่างไร



หนองคันแทเสื้อน้ำ พระธาตุหลวงเวียงจันทร์
เมืองศรีโคตม์บูร หรือ เมืองโคตรบอง หรือศรีโคตรตะบอง เป็นเมืองหรือแคว้นโบราณซึ่งในอดีตเคยเจริญรุ่งเรืองอยู่ในบริเวณจังหวัดนครพนม แขวงคำม่วน. จังหวัดมุกดาหาร และแขวงสุวรรณเขตในปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าจังหวัดนครพนมสืบเนื่องความเจริญรุ่งเรือง หรือสืบทอดทางวัฒนธรรมและผู้คนมาจากเมืองศรีโคตรบูรนั่นเอง จะเห็นว่าชื่อของเจ้าเมืองมักจะมีสร้อยมาจากเมืองศรีโคตรบูรด้วย ดังเช่นจารึกวัดโอกาสศรีบัวบาน (เดิมอยู่วัดกลาง เมืองนครพนม พระครูสุนทรกัลยาณพจน์ อดีตเจ้าอาวาสวัดโอกาส และอดีตเจ้าคณะอำเภอเมืองนครพนม ขอพระพุทธรูปองค์นี้เจ้าอาวาสวัดกลางองค์ก่อน(พระมหาวิจิตร?) ) มีข้อความว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงแต่งตั้งเจ้าอุปราชชื่นอุปราชเมืองนครพนม เป็นเจ้าเมืองนครพนมในปี พ.ศ. 2398 นามว่าพระพนมนครานุรักษาธิบดีศรีโคตรตะบองเจ้า สร้างพระพุทธรูปขนาดน้ำหนักตัวเพื่อเป็นสิริมงคลในวันได้รับตำแหน่ง

วันพุธที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

นครพนม บันทึกเอกสารทางประวัติศาสตร์

โปงไม้ หรือระฆังไม้พบได้ทั่วไปในวัฒนธรรมล้านนาและล้านช้าง
ผู้เขียนเป็นคนนครพนมโดยกำเนิด อ่านเอกสารเกี่ยวกับตำนาน หนังสือประวัติศาสตร์ ประวัติเมืองนครพนมมาพอสมควร แตยังมีคำถามคาใจอยู่จำนวนมาก เช่น นครพนมปรากฏชื่อในเอกสารฉบับโบราณหรือจารึกอื่นๆ หรือไม่ เพราะส่วนใหญ่ที่เขียนหรือคัดลอกต่อๆกันมาว่า ได้สร้างเมืองขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 แต่ไม่ปรากฏหลักฐานการอ้างอิงว่ามาจากเอกสารหรือจารึกโบราณฉบับใดกันแน่                                                                                                                                       ผู้เขียนจะนำพาผู้อ่าน ไปค้นหาเอกสารโบราณและบันทึกต่างๆ ทีละยุค เพื่อจะได้คลี่คลายความสงสัยหรือตอบคำถามที่คาใจมานาน เพื่อเป็นหลักฐานการอ้างอิงและความเข้าใจในประวัติศาสตร์ของบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง